เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุตติ เราและเธอทั้งหลายจึงเร่ร่อนเที่ยวไปตลอดกาลนานอย่างนี้
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร และทรงแสดงธรรมิกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ศีล เป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาเป็นอย่างนี้ สมาธิ อันบุคคลอบรมแล้วโดยมีศีลเป็นฐานย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญา อันบุคคลอบรมแล้ว โดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิต อันบุคคลอบรมแล้วโดยมีปัญญาเป็นฐานย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง
ตลอด 45 พรรษาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจาริกสั่งสอนเวเนยยสัตว์ คือเหล่าสัตว์ที่สามารถสั่งสอนเพื่อการบรรลุธรรมได้ คำสอนของพระองค์ประสงค์เพื่อให้รู้ทุกข์และหนทางดับทุกข์เท่านั้น หนทาง 7 สายที่เรากล่าวถึงไปแล้วเมื่อครั้งก่อน
6 สายแรกทรงสอนให้รู้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้นไม่แน่นอน ล้วนแหวกว่ายเวียนตาย เวียนเกิดไปในภพภูมิต่างๆ ตามผลของกรรมที่ได้กระทำไป บางชาติทำความดีก็ไปสู่หนทางที่มีแต่ความสุขอย่างสวรรค์และพรหมเป็นต้น แต่ถ้าในชาตินั้นสร้างกรรมชั่วหนักหนาก็พาไปเกิดในหนทางที่มีแต่ทุกข์สถานเดียวอย่าง นรก เปรต อสุรกายและเดรัจฉาน เป็นต้น ล้วนไม่เป็นไปเพื่อทางดับทุกข์ จึงทรงชี้ว่า ยังมีหนทางดับวงจรแห่งทุกข์นี้ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 เพื่อเข้าสู่หนทางสายที่ 7 เรียกว่านิพพาน คือหนทางของการดับทุกข์ในวัฏสงสารนั่นเอง
“เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุตติ เราและเธอทั้งหลายจึงเร่ร่อนเที่ยวไปตลอดกาลนานอย่างนี้” ทรงสอนว่าเพราะคนเราล้วนพลาดพลั้งกระทำผิดทางกาย วาจา ใจ โดยเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้าง โดยรู้เท่าไม่ถึงการบ้าง แต่เมื่อกระทำไปแล้วล้วนสร้างมลทินให้แก่ตนได้ทั้งสิ้น
หนทางที่จะขัดล้าง มลทินให้แก่ตนมีแต่ต้องอบรมบ่มนิสัยให้แก่ตนเพื่อขัดเกลาจิตให้พ้นจากมลทินทั้งมวลได้จึงมีแต่หนทาง 3 สายคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขานี่เอง
ศีล จะไปช่วยกำจัดกิเลสอย่างหยาบที่กระทำทางกายและวาจา อันเป็นทางพาไปสู่อบายทุคติวินิบาตนรกได้ ศีล 5 คือเครื่องรักษาใจไม่ให้กระทำผิดทางกายและวาจาได้ จึงกล่าวได้ว่าศีลคือเครื่องป้องกันตนไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่วนั่นเอง
สมาธิ เกิดจากการฝึกจิตด้วยสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานคือการสร้างกำลังให้กับจิต ช่วยให้ผู้ฝึกมีจิตตั้งมั่น มีกำลังในการต่อสู้กับใจที่คอยแต่จะไหลไปหากิเลสความชอบใจ ไม่ชอบใจทั้งหลายให้สงบลงได้ เป็นเพียงสงบยับยั้งไว้ได้แต่ยังไม่สามารถขจัดออกจากใจได้ แต่ก็สามารถช่วยขจัดกิเลสอย่างกลางคือนิวรณ์ได้
นิวรณ์ คือกิเลสอันเป็นเครื่องกั้นสำคัญทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมไม่สามารถเข้าสู่การบรรลุธรรม หรือทำให้ต้องเลิกล้มความตั้งใจในการปฏิบัติไปเลยก็มี นิวรณ์มี 5 อย่าง คือ
- กามฉันทะ คือความพอใจ ชอบใจใน ความสุขแบบโลกๆ หรือโลกียสุขนั่นเอง
- พยาบาท คือความคิดร้ายผู้อื่น ความโกรธ ความอาฆาต
- ถีนมิทธะ คือความหดหู่ ท้อแท้ ซึมเศร้า และความเคลิบเคลิ้มมึนซึม
- อุททัธจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน อึดอัด กลัดกลุ้ม วิตกกังวล และรำคาญใจ
- วิจิกิจฉา คือความกังวลลังเล สงสัย ตัดสินใจไม่ได้
ทั้ง 5 สิ่งนี้จะถูกกำจัดได้ในขั้นของการฝึกสมาธินี้เอง
ปัญญา เกิดจากการอบรมจิตด้วยการทำวิปัสสนากรรมฐาน การทำวิปัสสนากรรมฐานเป็นการอบรมจิตให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตว่าล้วนตกอยู่ภายใต้กฏของความเป็นธรรมดาของธรรมชาติทั้งปวงที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่พ้นไปจากนี้ไปได้ เรียกว่ากฏไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง คือความไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วตั้งอยู่ได้ระยะหนึ่งก็ต้องดับไป เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการบังคับบัญชา เพราะมีความเป็นอนัตตา คือไม่สามารถบังคับบัญชาได้อย่างใจ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงเป็นกฎธรรมดาที่ปรากฏอยู่แล้วทั้งสิ้น
การอบรมจิตด้วยวิปัสสนานี้ จึงจะสามารถกำจัดกิเลสอนุสัย คือกิเลสอย่างละเอียด คือกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายในลึกสุดของจิต ที่ปกติดูเหมือนไม่มี แต่เมื่อถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจึงกระเพื่อมขึ้น เหมือนตะกอนที่นอนก้นอยู่ในตุ่มใหญ่
ซึ่งผู้ปฏิบัติจะสามารถมองเห็นได้ต้องมีฐานของสมาธิคือสมถกรรมฐาน คือสติปัฏฐาน 4 มีความรู้พร้อมในกายใจตนเท่านั้น ญาณ คือเครื่องรู้และกำจัดอาสวะกิเลสทั้งหลายลงได้จึงจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงต้องอบรมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จะขาดเสียอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ต่อเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา อบรมแก่กันและกันแล้วอาสวะทั้งหลายจึงหลุดพ้นได้ นิพพาน หนทางสายที่ 7 จึงจะสามารถเข้าถึงและหลุดพ้นเสียจากวัฏสงสารได้