คอลัมน์ » คุยกับ… ดร.ปรีชา

คุยกับ… ดร.ปรีชา

21 กุมภาพันธ์ 2025
11   0

  1. ความทันสมัยต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน

ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยต้องการจะทราบว่าผู้สูงอายุมีความทันสมัยต่อเหตุการณ์ปัจจุบันหรือไม่มากน้อยเพียงใด วัตถุประสงค์ของการสอบถามเรื่องนี้เนื่องจากสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองย้อนขึ้นไปถึงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อ 66 ปีมาแล้ว ดังนั้นความสำคัญของประเด็นนี้ต้องการจะทราบว่าผู้สูงอายุ ซึ่งได้ใช้ชีวิตระหว่าง สังคมเก่ากับสังคมใหม่ ได้มีการปรับตัวอย่างไรต่อสังคมยุคข้อมูลข่าวสารและยุคเทคโนโลยีในปัจจุบัน ในการสัมภาษณ์ คณะผู้วิจัยได้ตั้งคำถามตรงว่า “ผู้สูงอายุประเมินตนเองเป็นคนทันสมัยหรือไม่ ทำไมจึงเชื่อเช่นนั้น” ผลปรากฏว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุทั้งหมด ตอบว่าตนเองเป็นคนไม่ทันสมัย เหมือนคนทั่วๆ ไป ส่วนผู้สูงอายุที่เหลือส่วนใหญ่ตอบว่าทันสมัยและทันสมัยบ้างไม่ทันสมัยบ้าง

สำหรับเหตุผลของผู้สูงอายุต่อแนวคิดว่าตนเองเป็นผู้สูงอายุที่ทันสมัย และไม่ทันสมัยนั้น สามารถเปรียบเทียบได้ดังนี้

ทันสมัยไม่ทันสมัย
เข้าสังคมอยู่ประจำชอบแต่งกายแบบคนโบราณ ไม่ตัดผมแต่งหน้า
ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกได้ทุกชนิดไม่ชอบเดินทางไปไหน
แต่งกายทันสมัย รักสวยรักงามไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ที่มีอยู่ดีแล้ว
สนใจข่าวสาร อ่านหนังสือพิมพ์ ดูโทรทัศน์ ฟังข่าวทุกวันไม่ทราบข่าวสารบ้านเมือง ไม่ทราบใครเป็นนายกฯ
ชอบใส่เครื่องประดับ สร้อยคอ นาฬิกา ใส่เสื้อผ้าที่ซื้อมาจากตลาด ราคาแพงไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม
ใช้รถยนต์ และจักรยานยนต์ได้รับการศึกษาน้อย
รอบรู้เหตุการณ์บ้านเมืองทั้งในและต่างประเทศชอบฟังเพลงลูกทุ่ง ไม่ชอบเพลงสมัยใหม่
มีความคิดทันสมัยทำอะไรช้า คิดช้าไม่ทันคนรุ่นใหม่
ชอบใช้เครื่องสำอาง ชอบพูดภาษาใหม่ๆของพวกวัยรุ่น เช่นวัยจ๊าบ ไฮเทคแต่งตัวไม่เก่ง ไม่เป็นไปตามแฟชั่น
ชอบเดินทางท่องเที่ยว เพื่อจะได้รู้ได้เห็นสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆชอบเข้าวัด ทำบุญ
เพราะส่งเสียลูกให้เรียนสูงๆ เพื่อให้สามารถมีความรู้และมีความทันสมัยอายุมากขึ้น ตอนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ทันสมัย
ทำตัวให้เป็นไปตามยุคตามสมัยนุ่งแต่ผ้าถุง ไม่กล้าใส่กระโปรงหรือกางเกง
 หูตาไม่กว้างขวาง ไม่ทราบข่าวสารบ้านเมือง
 ไม่กล้าขึ้นรถ ชอบเดิน
 ตามความคิดของหนุ่มสาวไม่ทัน

 

การประเมินความทันสมัยของผู้สูงอายุครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าผู้สูงอายุที่เชื่อว่าปัจจัยที่เป็นดัชนีบ่งชี้ความทันสมัยนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และระบบความคิดผู้สูงอายุ ที่คิดว่าตนเองทันสมัยและไม่ทันสมัยโดยแสดงเหตุผลดังนี้

  1. คิดว่าตนเองเป็นคนทันสมัย

ผู้สูงอายุแสดงความคิดเห็นว่าคนทันสมัยนับถือคนที่มีบุคลิกลักษณะที่ชอบเข้าสังคม มีการศึกษา มีหน้าที่การงาน มีความคิดที่ทันต่อเหตุการณ์และสามารถปรับตนเองให้เข้ายุคเข้าสมัย ได้สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งคือ เป็นผู้ที่ใฝ่รู้ ติดตามข้อมูลข่าวสารของบ้านเมือง ไม่เฉพาะภายในประเทศแต่รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ของต่างประเทศด้วย ผู้ที่ทันสมัยจะรับเทคโนโลยีสมัยใหม่มีการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ปั๊มน้ำ โทรทัศน์ และชอบที่จะใช้ยานพาหนะ รถยนต์ มอเตอร์ไซต์ในการคมนาคม ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการรับข้อมูลข่าวสารมากเท่าๆ กับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งถือว่าเป็นดัชนีของความทันสมัยที่มีอยู่ในชุมชน

นอกจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบ้านเมือง และการใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกแล้ว ดัชนีบ่งชี้ที่ผู้สูงอายุได้กล่าวถึงคือ การแต่งกายตามสมัยนิยม ความพิถีพิถันในการใช้เสื้อผ้า การใช้เครื่องสำอาง ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุได้พยายามปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย ไม่ปล่อยให้ล้าสมัย ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ให้ความสำคัญต่อการแต่งกายสมัยนิยมจึงเน้นว่า การจะทันสมัยหรือไม่สามารถมองด้วยสายตาว่าได้เป็นคนทันสมัยหรือล้าสมัยโดยกล่าวถึงผู้ที่ล้าสมัย คือ ไม่ดัดผม นุ่งผ้าถุง ไม่แต่งหน้าทาปาก ไม่กล้าและไม่ชอบแต่งตัว เป็นต้น

ดัชนีบ่งขี้ที่สำคัญที่ไม่ใช่วัตถุคือ ระบบความคิด ผู้สูงอายุบางคนเชื่อว่าตนเองเป็นคนทันสมัยเพราะได้ส่งบุตรหลานให้เรียนหนังสือ เพื่อที่จะได้มีชีวิตที่ดี จะได้เป็นคนฉลาดและทันต่อเหตุการณ์ทางสังคมที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง การที่มีหัวคิดก้าวหน้าจะถือเป็นความทันสมัยที่ได้คิดล่วงหน้าไว้แล้ว เปรียบเสมือนเป็นผู้ทันสมัยที่มองการณ์ไกลได้ในกลุ่มแนวคิดหรือระบบความคิดที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันคือ การติดตามข่าวสาร การอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าววิทยุ ทำให้สามารถพูดคุยกับคนทันสมัยคนอื่นๆ ได้ สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ เหตุการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจและการเมืองได้

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุกลุ่มที่เชื่อว่าตนเองทันสมัยยังได้ให้เหตุผลอื่นๆ คือ คนที่ทันสมัยจะต้องเป็นผู้ที่รู้เห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะมีอะไรจะเกิดขึ้น การจะรู้เรื่องราวภายนอกจะใช้สื่อที่มีอยู่ในการรับฟัง เช่น ถ้าใครอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าวสารบ้านเมืองก็คือว่าทันสมัยได้ไม่จำเป็นจะต้องแต่งตัวโก้เพียงอย่างเดียว เพราะความทันสมัยเป็นสิ่งที่เห็นได้และเห็นไม่ได้คือ ความคิดผู้สูงอายุบางคนเชื่อว่าตนเองเป็นคนทันสมัยเพราะมีการปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน ทั้งเรื่องการแต่งกายและการใช้ภาษาสมัยใหม่เพราะถ้าหากไม่ปรับตัวให้ทันสมัยจะสั่งสอนลูกหลานไม่ได้ ต้องตามลูกหลานให้ทันด้วย ผู้สูงอายุที่ให้เหตุผลสนับสนุนการเป็นคนทันสมัยของตนเองที่แตกต่างไปจากที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น การได้เดินทางไปที่ต่างๆ ทั้งจากการท่องเที่ยวหรือการเข้ารับการอบรม สิ่งที่ได้พบเห็นและได้นำกลับมาใช้ถือว่าตนเองทันสมัยกว่าคนอื่นๆ ที่อยู่แต่ในบ้านไม่ไปไหน เพระทำให้ตนเองมีความรอบรู้กว้างขวางขึ้น

  1. คิดว่าตนเองไม่เป็นคนทันสมัย

กลุ่มผู้สูงอายุที่ตอบว่าตนเองไม่เป็นคนทันสมัย ซึ่งมีมากถึงครึ่งหนึ่งนั้นได้เห็นเหตุผลว่า เคยชินกับการมีชีวิตแบบเดิม ตั้งแต่เรื่องการแต่งกายที่ยังคงนิยม นุ่งผ้าถุง ไม่นุ่งกระโปรงหรือกางเกง คิดว่าอยู่ที่บ้านมีเสื้อผ้าใส่ก็เพียงพอ แต่งตัวอย่างที่เคยแต่งไม่กล้าที่จะแต่งตัวเหมือนคนสมัยใหม่ เพราะเป็นผู้สูงอายุแต่งตัวมากไม่ดี น่าเกลียด นอกจากนี้ยังมองว่าคนสมัยใหม่แต่งตัวไม่เหมาะสม มีลักษณะยั่วยวนไม่เรียบร้อย ประเด็นในเรื่องการแต่งตัวมิได้เป็นแนวคิดของผู้สูงอายุหญิงเท่านั้น ผู้สูงอายุชายก็มีความเชื่ออย่างเดียวกันว่าคนทันสมัยใหม่ ดูได้จากการแต่งตัวคนสมัยใหม่แต่งตัวเก่งชอบโก้เก๋ ผู้หญิงจะต้องเขียนคิ้ว ทาปาก ตัดผม ไม่ปล่อยให้รุ่มร่าม การแต่งตัวจะเป็นแบบฝรั่ง ตามแบบดาราโทรทัศน์คนที่แต่งตัวแบบธรรมดาๆ จึงไม่เป็นคนทันสมัย เพราะไม่ต้องออกสังคม คนทันสมัยจะแต่งตัวเต็มที่เพื่อพบปะผู้คนออกสังคม

ประเด็นที่สอง ถัดจากเรื่องแต่งตัว คือ เรื่องความคิด ความอ่าน ผู้สูงอายุที่คิดว่าตนเองเป็นคนไม่ทันสมัย ก็เพราะมีความคิดแบบโบราณ คิดไม่ทันคนอื่น ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการศึกษาน้อยคิดอะไรไม่ค่อยทันคนสมัยใหม่ ไม่ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง พูดกันเรื่องการเมืองหรือเศรษฐกิจก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง แม้จะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าใช้บ้าง เช่น หม้อหุงข้าว ก็ไม่ใช่แสดงถึงความทันสมัยเพราะเป็นสิ่งจำเป็น จะให้กลับไปหุงข้าวด้วยหม้อดินคงจะลำบากมากขึ้นเพราะต้องใช้ฟืนจึงอาจไม่เหมาะกับสภาพปัจจุบัน ส่วนเรื่องความคิดเชื่อว่าคนสมัยใหม่มีความฉลาดมากกว่า คนโบราณมักตามความคิดของคนสมัยใหม่ไม่ทัน

ประเด็นที่สาม ที่คิดว่าไม่เป็นคนทันสมัยเพราะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้านหรือในหมู่บ้าน ไม่ได้ออกสังคม ไม่มีความรอบรู้ว่าสังคมเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง การที่ไม่ได้ไปพบปะสังสรรค์กับใครจึงไม่เป็นคนทันสมัย เวลาใครพูดถึงเรื่องอะไรใหม่ๆ ก็จะไม่รู้ ดังนั้นคนที่เดินทางไปที่ไหนๆ จะมีความทันสมัยมากกว่า อย่างมากก็ไปวัด ถือศีลฟังธรรม จึงได้อยู่แต่ในบ้านเท่านั้น

ประเด็นที่สี่ ที่ผู้สูงอายุคิดว่าตนเองเป็นคนไม่ทันสมัย คือ มีนิสัยไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง คิดว่าชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มีความสะดวกสบายดีอยู่แล้ว คนทันสมัยจะให้ความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจ ครอบครัวจะมีความสุขไม่ใช่ขึ้นอยู่ในการมีอุปกรณ์ เครื่องใช้ ถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างหนึ่งเท่านั้น ผู้สูงอายุมีแต่แก่ขึ้นทุกวันจะให้เป็นคนทันสมัยไม่ได้

ผู้สูงอายุที่คิดว่าตนเองไม่เป็นคนทันสมัย นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ไม่ทันสมัยเพราะไม่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ไม่อยากรู้และไม่ทราบว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไร การดำเนินชีวิตจึงอยู่ภายในขอบเขตของบ้านและหมู่บ้านของตน แม้ว่าจะมีโทรทัศน์บางครั้งก็ไม่เข้าใจสำนวนและภาษาที่พูดกันในปัจจุบันต้องถามลูกหลานว่า หมายถึงอะไร ความสนใจของผู้สูงอายุกลุ่มนี้จึงสนใจเรื่องที่ใกล้ตัว ไม่ต้องการทราบเหตุการณ์บ้านเมืองว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ส่วนหนึ่งคือไม่ได้สัมผัสกับโลกภายนอกมีวีชีวิตที่วนเวียนอยู่กับสิ่งเก่าๆ ที่เคยชินและมีการเปลี่ยนแปลงน้อยในชุมชน จึงเชื่อว่าไม่เป็นคนทันสมัยเหมือนคนที่มีการศึกษา สนใจข้าวสารบ้านเมือง แต่งตัวดี ทันสมัย และติดต่อกับสังคมตลอดเวลา

สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่แบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างทันสมัยกับไม่ทันสมัยนั้น ได้ให้เหตุผลว่าตนเองทันสมัยเป็นบางเรื่อง บางเรื่องก็ไม่ทันสมัย เช่น แม้จะมีข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นของสมัยใหม่แต่ก็ยังมีความคิดแบบโบราณอยู่ หรือยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแต่ไม่มีความคิดแบบคนสมัยใหม่ หรือมีความสนใจข่าวสารบ้านเมืองทราบเหตุการณ์ต่างๆ แต่มีความเป็นอยู่ที่ไม่ทันสมัย เป็นต้น ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงแต่เป็นทางด้านวัตถุเท่านั้น ส่วนความรู้สึกนึกคิดของคนในชนบทยังล้าหลังแม้จะดัดผมเหมือนคนทันสมัย แต่ก็ไม่นุ่งกระโปรง ทาเล็บ เขียนคิ้ว เหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไป

เพื่อสนับสนุนเหตุผลที่ผู้สูงอายุได้ตอบว่าเป็นคนทันสมัยหรือไม่ทันสมัยนั้น ได้ตั้งสมมติฐานต่อไปว่า การดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ และอ่านหนังสือพิมพ์ของผู้สูงอายุน่าจะเป็นตัวชี้วัดความทันสมัยของผู้สูงอายุเพราะปัจจุบันนี้สื่อมีความทันสมัยรวดเร็ว จึงได้ตั้งประเด็นคำถามว่า “ผู้สูงอายุได้มีโอกาสได้รับรู้มากน้อยเพียงใด และส่วนใหญ่สนใจเรื่องอะไร” ซึ่งสามารถจำแนกรายการที่ผู้สูงอายุสนใจได้ดังนี้

โทรทัศน์                                  รายการที่ชอบดูหรือฟังเป็นประจำ
1. รายการข่าว ดินฟ้าอากาศ
2. ดูหนัง ดูละคร
3. รายการธรรมะ
4. ข่าวอาชญากรรม
5. ดูมวย
6. รายการมองต่างมุม
7. ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ

วิทยุ                                         รายการที่ชอบดูหรือฟังเป็นประจำ
1. ฟังนิยาย
2. รายการธรรมะ
3. ข่าวชาวบ้าน
4. ฟังวิทยุถ่ายทอดจากหอกระจายข่าว
5. ฟังลิเก
6. ข่าวเศรษฐกิจ การเมือง

รายการทางโทรทัศน์และวิทยุที่ผู้สูงอายุสนใจดูและฟังนั้น ค่อนข้างจะครอบคลุมรายการสำหรับผู้สูงอายุโดยตรงนั้นยังไม่มี นอกจากรายการธรรมะทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ ที่ผู้สูงอายุติดตามเป็นประจำ ส่วนรายการบันเทิงจะเป็นรายการละคร มวย และหนัง ไม่มีผู้สูงอายุคนใดสนใจรายการเกมส์โชว์ หรือตลก แต่จะสนใจข่าวการเมือง อาชญากรรม และเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่ฟังรายการวิทยุ นอกเหนือจากฟังวิทยุจากหอกระจายข่าวตอนเช้าตรู่แล้ว ผู้สูงอายุยังชอบรายการธรรมะ ฟังลิเก นิยายและข้าวสารบ้านเมือง หรือข่าวชาวบ้าน

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของการดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์ พบว่าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดชอบดูโทรทัศน์และฟังวิทยุ ส่วนหนังสือพิมพ์นั้นมีเพียงไม่กี่รายที่ชอบอ่านซึ่งส่วนใหญ่จะอ่านที่ร้านค้ามากกว่าที่จะซื้ออ่านเอง การดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์ที่ได้สัมภาษณ์ครั้งนี้มีเพียง 2 รายเท่านั้นที่ยืนยันว่าไม่ในใจจะดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์เลย โดยให้เหตุผลว่ารู้สึกรำคาญ นอนเล่นเฉยๆ จะดีกว่า สำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุนั้นต่างได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจ ดังนี้

การดูโทรทัศน์ ชอบดูข่าวทางโทรทัศน์เพราะทันต่อเหตุการณ์ ไม่ต้องฟังวิทยุ หรืออ่านหนังสือพิมพ์ก็ได้เพราะข่าวจะช้ากว่า นอกจากข่าวทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองแล้วยังชอบดูรายการข่าว ดินฟ้าอากาศ กีฬามวยในวันหยุด ส่วนข่าวจะดูช่วงหัวค่ำพอจบข่าวก็จะขึ้นนอน ผู้สูงอายุส่วนมากจะนอนแต่หัวค่ำ มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ชอบดูรายการธรรมะข่าวอาชญากรรม ส่วนข่าวการเมืองและเศรษฐกิจไม่ค่อยมีผู้สนใจมากนัก ผู้สูงอายุหลายคนตอบว่าส่วนมากจะดูพร้อมๆ กับลูกหลานเรื่องอะไรก็ได้ บางครั้งต้องแบ่งกันเพราะเด็กๆ ชอบรายการที่ผู้สูงอายุไม่ชอบ แต่เมื่อถึงเวลาข่าวก็จะมีอิสระมากกว่าเพราะเด็กๆ ไม่ชอบรายการข่าว ดังนั้นรายการข่าวจึงเป็นรายการที่ผู้สูงอายุชอบมากและจะเป็นรายการที่ดูทุกวันและชอบดูข่าวทุกชนิด

รายการฟังวิทยุ ผู้สูงอายุที่ชอบฟังวิทยุบางคนจะไม่ดูโทรทัศน์ โดยให้เหตุผลว่าการฟังวิทยุนั้นดีกว่าอย่างอื่นเราะไม่ต้องดูฟังอย่างเดียว ดีกว่าโทรทัศน์และดีกว่าอ่านหนังสือพิมพ์ รายการที่ผู้สูงอายุฟังจากวิทยุ มีทั้งข่าว นิยาย และลิเก เหตุผลของผู้สูงอายุบางคนที่ชอบฟังวิทยุมากนั้น คือ สายตาไม่ดี ดูโทรทัศน์แล้วเวียนศีรษะเช่นเดียวกับการอ่านหนังสือพิมพ์ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่จะดูทั้งโทรทัศน์และวิทยุ ส่วนใหญ่เวลากลางวันจะฟังวิทยุพร้อมกับทำงานอื่นไปด้วย และเวลากลางคืนจะดูโทรทัศน์ เฉพาะข่าวเท่านั้น เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะนอนหัวค่ำ

การอ่านหนังสือพิมพ์ ผู้สูงอายุที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์แสดงเหตุผลหลายประการเช่น สายตาไม่ดี อ่านแล้วเวียนศีรษะ และบางคนตอบตรงๆ ว่าอ่านไม่ออก เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ หนังสือพิมพ์มีราคาแพง ถ้าจะอ่านต้องไปอ่านที่ร้านค้า บางคนตอบว่าขี้เกียจใช้แว่นตาเพราะตัวหนังสือเล็กมาก มองไม่เห็น ฟังวิทยุก็เหมือนกันเพราะบางรายการผู้ดำเนินการรายการวิทยุจะอ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟังเป็นข่าวชาวบ้าน อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้สูงอายุบางคนจะอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันละหลายๆ ฉบับ ถ้าพิจารณาจำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์แล้วจะพบว่ามีมากเกือบหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด

อีกคำถามหนึ่งที่ได้สัมภาษณ์ผู้สูงอายุครั้งนี้คือ ได้พูดคุยปัญหา เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองกับคนรุ่นใหม่ๆ หรือไม่ ถ้ามีการสนทนามีประเด็นหรือปัญหาเรื่องอะไรบ้างทั้งนี้เพื่อจะทราบว่าผู้สูงอายุ มีความสนใจปัญหาบ้านเมือง และให้ความสำคัญของข่าวสารอย่างไรผลจากการสัมภาษณ์ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้คุยกับคนรุ่นหนุ่มสาว แต่จะคุยกับผู้ที่มีอายุไล่เลี่ยกัน สิ่งที่เป็นประเด็นของการสนทนาจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องการเมือง หรือเศรษฐกิจ นอกจากผู้สูงอายุบางคนที่มีความสนใจการเมืองเป็นพิเศษ ก็จะคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญบ้าง เรื่องการเลือกตั้งบ้าง ผู้สูงอายุส่วนมากที่พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ ถ้าไม่ใช่เรื่องส่วนตัวก็จะเป็นเรื่องที่เก็บมาจากข่าว เข่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวดินฟ้าอากาศ ข่าวการทำมาหากิน ส่วนข่าวด้านเศรษฐกิจจะเป็นเศรษฐกิจของครัวเรือนของหมู่บ้านมากกว่า ข่าวเศรษฐกิจของบ้านเมือง เมื่อผู้สูงอายุพบกลุ่มรุ่นเดียวกันจะพูดคุยกันเรื่องทำบุญและสุขภาพไม่เคยพูดกับเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง ถ้าเป็นลูกหลานบางครั้งจะคุยกับเรื่องละครจากโทรทัศน์

การดูข่าวจากโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจเพื่อเป้นความรู้ที่ผู้สูงอายุแต่ละคนมีความสนใจแตกต่างกัน เช่น ข่าวเรื่องหุ้นก็เพียงเพื่อจะทราบเท่านั้น เพราะมีผลกระทบบ้างต่อปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ราคาข้าวของแพงขึ้น ผู้สูงอายุยังได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าส่วนใหญ่ถ้าจะพูดคุยกันเรื่องเศรษฐกิจโดยจะเป็นผู้ฟังหรือผู้เสริมมากกว่าที่จุเป็นผู้เริ่มต้นเพราะรู้ไม่ลึกซึ้ง แต่ถ้าพูดคุยกันก็พอจะเข้าใจและรู้เรื่องบ้างเท่านั้น



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า