- การแสดงออกถึงความเคารพผู้สูงอายุ
เพื่อยืนยันการแสดงออกถึงความเคารพผู้อาวุโสของคนรุ่นใหม่ คณะผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ผู้สูงอายุโดยสอบถามถึง “การใช้คำพูดหรือกิริยาท่าทาง” ที่คนรุ่นใหม่ใช้ติดต่อกับผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุเพียงส่วนน้อยที่สังเกตเห็นว่าการพูดจาของคนรุ่นใหม่ไม่ได้แสดงถึงการเคารพเลย แต่ส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าผู้สูงอายุหรือผู้อาวุโสส่วนมากยังได้รับความเคารพ โดยสังเกตจากคำพูดและปฏิกิริยาท่าทางของคนรุ่นใหม่ เมื่อขอให้ผู้สูงอายุยกตัวอย่างของคำพูดที่คนรุ่นใหม่ใช้สื่อสารว่าเป็นอย่างไร และการตีความของผู้สูงอายุเกี่ยวกับการเคารพหรือไม่นั้นเป็นอย่างไร และผู้สูงอายุได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนด้วยเหตุผลอะไร ในการนำเสนอนี้คณะผู้วิจัยได้จำแนกสิ่งที่คนรุ่นใหม่แสดงออกเป็น 3 ลักษณะคือ (1) ลักษณะการใช้คำพูด (2) ลักษณะการแสดงกิริยาท่าทาง (3) พฤติกรรมโดยรวม ซึ่งผลสรุปจำแนกได้ดังนี้
(1) ลักษณะการใช้คำพูด
การแสดงความเคารพ | การแสดงความไม่เคารพ |
1. ใช้คำพูดยกย่องให้เกียรติเรียกคุณป้าคุณยาย | 1. คนแก่อยู่ตามประสาแก่ ไม่ต้องมายุ่ง |
2. ใช้ถ้อยคำไพเราะ สุภาพ อ่อนโยน | 2. น่ารำคาญพวกคนแก่ เมื่อไหร่จะตายเสียที |
3. กล่าวคำสวัสดีทักทายเมื่อพบเห็น | 3. ไม่ต้องมาสั่งสอน รู้แล้ว น่าเบื่อหน่าย |
4. ใช้คำแสดงความเคารพผู้อาวุโส | 4. เรียกอีแก่บ้าง เฒ่าล้านปีบ้าง |
5. ชวนกินข้าวกินน้ำ | 5. พูดไม่มีหางเสียง กระโชกโฮกฮาก |
6. ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ | 6. พูดดุด่าว่าร้ายพ่อแม่และผู้อาวุโส |
7. พูดจาหยอกล้อแต่ไม่ลบหลู่ | 7. พูดจาโกหก |
8. ไม่พูดคำหยาบคาย | 8. คนแก่ไม่มีประโยชน์ทำงานอะไรไม่ได้ เหมือนไม้ลอยมาไม่มีเห็ดให้เก็บผลาญลูกผลาญหลาน |
(2) ลักษณะการแสดงกิริยาท่าทาง
แสดงความเคารพ | แสดงความไม่เคารพ |
1. ยกมือไหว้ ทักทายเวลาพบผู้ใหญ่ดี | 1. ขากถุยใส่คนแก่ |
2. อาสาให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล | 2. แสดงกิริยาล้อเลียน |
3. เวลาเดินผ่านก้มตัวลง แสดงการเป็นผู้น้อย | 3. ว่ากล่าวตักเตือน ไม่เถียงแต่ลับหลังไม่ ค่อยทำตาม (หน้าไหว้หลังหลอก) |
4. 4.ยอมรับการสั่งสอน ไม่ตอบโต้ ถกเถียง | 4. แสดงท่าทางลบหลู่ |
5. อ่อนน้อม ถ่อมตน | 5. เดินหนี หลีกเลี่ยง |
6. แสดงท่าทางหยิ่ง จองหอง |
(3) พฤติกรรมโดยรวม
จากการประเมินของผู้สูงอายุต่อท่าทีและวาจาที่แสดงออกของคนรุ่นใหม่ ที่ผู้สูงอายุแต่ละคนมีประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน อาจกล่าวได้ว่าภาพรวมโดยทั่วไป คนรุ่นใหม่ยังคงให้การเคารพอยู่เป็นส่วนมาก ดังที่ได้นำเสนอในหัวข้อ 1 และ 2 ข้างต้น ซึ่งผู้สูงอายุได้เน้นว่าผู้ที่ให้ความเคารพมากที่สุดก็คือ ลูกหลานของตนที่ยังคงให้ความสำคัญและแสดงความเคารพแม้ว่าจะเป็นผู้สูงอายุแล้วก็ตาม แต่ก็มีผู้สูงอายุบางคนที่แสดงความคิดเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ปัจจุบันพูดจาไม่ค่อยดี ไม่ค่อยแสดงกิริยามารยาทที่ดีงามและบางคนก็แสดงท่าทางและพูดดูถูก ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะตัวผู้สูงอายุเองที่ทำตัวไม่เหมาะสม ไม่มีศีลธรรม พูดมาก ชอบดุด่าลูกหลาน ขี้บ่น จู้จี้ ทำให้ลูกหลานรำคาญจึงแสดงกิริยาท่าทางหรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม ผู้สูงอายุบางคนที่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ยังมีความเคารพผู้ใหญ่เหมือนเดิม เช่น มีคนมาทักทายถามว่าสบายดีหรือไม่ บางคนเวลาไปเที่ยวบ้านคนอื่นๆ ก็จะชักชวนกินข้าวกันทุกบ้านไม่มีอด สำหรับคนอื่นๆ ทั่วๆ ไปที่ไม่รู้จัก ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่แสดงท่าทีต่อผู้สูงอายุทั้งทางลบและทางบวก แต่ยังมีความรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจคนแก่มากนัก แต่ก็ไม่เคยมีใครก้าวร้าวพูดจาจนทำให้เสียใจ ผู้สูงอายุยืนยันว่าลูกหลานในบ้านไม่มีใครที่พูดจาไม่ดี ไม่แสดงความเคารพ แต่จะยกตัวอย่างที่เคยพบเห็นจากภายนอก และเมื่อนำมาเปรียบเทียบจึงเชื่อว่าพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น ขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอน ถ้าสอนไม่ดีเด็กจะไม่เคารพผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุบางคนเล่าประสบการณ์ที่เห็นการแสดงกิริยาที่พูดกับผู้สูงอายุไม่ดี เป็นเพราะเด็กเดี๋ยวนี้เป็นคน แก่น ก้าวร้าว และถือดี ซึ่งเป็นนิสัยของแต่ละคนเช่นกัน
มีผู้สูงอายุบางคน ไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่จะมีพฤติกรรมแสดงความเคารพหรือไม่ เพราะบางครั้งคนรุ่นใหม่มักจะหลีกเลี้ยงที่จะพูดคุยทักทายผู้สูงอายุ จะทำตัวเฉยๆ ปรากฏการณ์ที่เป็นเช่นนี้เพราะพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาอบรมสั่งสอนเพราะต่างต้องทำมาหากิน ผลจึงปรากฏออกมาอย่างหลากหลาย แต่โดยภาพรวมแล้ว การให้ความเคารพยกย่องยังคงดำรงอยู่แต่อาจลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน