- ความแตกต่างระหว่างหน้าที่และบทบาทของผู้สูงอายุชายและหญิง
ในหัวข้อที่ผ่านมา ได้นำเสนอการให้ความหมายของการเป็นผู้หญิงและผู้ชายตามความคิดเห็นของผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้เห็นความสำคัญ ความหมายของการเป็นหญิงและชายสำหรับหัวข้อนี้คณะผู้วิจัยต้องการจะทราบว่าในโลกของความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงอายุมองเห็นประเด็นความแตกต่างระหว่างเพศอย่างไร ทั้งนี้เพื่อจะยืนยันสิ่งที่ผู้สูงอายุได้แสดงความคิดเห็นไปแล้วในข้อที่ผ่านๆ มา ดังนั้นในหัวข้อนี้จึงเป็นการประเมินความคิดเห็นของผู้สูงอายุต่อประเด็นปัญหา “ความแตกต่างในด้านหน้าที่และบทบาท” ของผู้สูงอายุในปัจจุบันว่าระหว่างความเป็นขายและความเป็นหญิง นั้นมีปัจจัยอะไรที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างและได้มีการแบ่งงานกันอย่างไร
ประเด็นแรกที่ได้ถามคือมีความแตกต่างกันในด้านหน้าที่และบทบาทหรือไม่ ถ้าแตกต่างกันมีอะไรบ้าง เมื่อได้สอบถามผู้สูงอายุทุกคนแล้วสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มความคิด คือ (1) เชื่อว่ามีความแตกต่างกัน และ (2) เชื่อว่าไม่มีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุผลที่แต่ละคนมีประสบการณ์แตกต่างกันดังนี้
- มีความแตกต่างกัน ผู้สูงอายุที่เชื่อว่ามีความแตกต่างกันเพราะ
- ผู้ชายมีความแข็งแรงกว่าผู้หญิง แม้จะเป็นผู้สูงอายุแล้วก็ตาม ผู้ชายจึงทำงานหนักๆ ในไร่นาได้ ส่วนผู้หญิงมีร่างกายอ่อนแอ ไม่มีแรงจึงต้องทำงานเบาๆ เช่น งานในบ้าน เลี้ยงหลาน ตักน้ำ หุงหาอาหาร
- ผู้ชายมีความรับผิดชอบมากกว่า จึงมีหน้าที่และบทบาทเป็นผู้นำหาเลี้ยงครอบครัว ผู้ชายสามารถทำงานนอกบ้านได้ ผู้หญิงไม่มีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านการทำมาหากิน ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้ชาย
- ผู้ชายสูงอายุยังคงสามารถทำงานช่วยเหลือสังคมได้ เช่น เป็นกรรมการวัด กรรมการพัฒนาหมู่บ้าน กลุ่ม ธกส. กลุ่ม อสม. ผสส. ส่วนผู้สูงอายุหญิงเมื่อแก่ตัวจะลดบทบาทนี้ลงไป ผู้สูงอายุชายยังสามารถทำงานด้านสังคมและสาธารณกุศลได้อย่างเดิม ตั้งแต่ก่อนเป็นผู้สูงอายุหรือเป็นผู้สูงอายุแล้ว
- ผู้หญิงเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบจึงรับผิดชอบด้านการดูแลค่าใช้จ่ายในครอบครัว ผู้สูงอายุชายจะไม่สนใจและชอบถือเงินทอง
- ผู้หญิงสูงอายุทำงานบ้านตั้งแต่สาวๆ เมื่อเป็นผู้สูงอายุแล้วก็ยังคงต้องทำหน้าที่เป็นแม่บ้านอยู่เหมือนเดิม ส่วนผู้ชายพอเป็นผู้สูงอายุจะไม่ทำอะไร นั่งๆ นอนๆ ไม่ช่วยทำงานบ้านเลย ผู้สูงอายุชายคิดว่าตนเองหมดหน้าที่ในไร่นาเพราะแก่ตัว จึงไม่ทำงานช่วยเหลืออะไรอีกเลย เดินไปคุยกับเพื่อนๆ ในตลาดหรือไปคุยกันกับกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกันที่วัด
- ผู้สูงอายุชาย ชอบเอาเปรียบ ขี้เกียจ แกล้งบอกว่าทำไม่ได้ ทำให้ผู้สูงอายุหญิงต้องทนลำบากตั้งแต่สาวจนแก่
- ผู้สูงอายุชาย แม้จะอายุมากแต่เพราะมีประสบการณ์สะสมมาตลอดทำให้มีความคล่องตัวในเรื่องนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงไม่มีความคล่องแคล่ว การติดต่อธุระทั้งราชการและอื่นๆ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ผู้หญิงจึงต้องทำงานบ้าน ซึ่งเป็นหน้าที่และบทบาทที่เหมาะสม
- ผู้สูงอายุชายได้เปรียบเพราะความเป็นผู้ชายจึงเดินทางท่องเที่ยวไปได้ไกลๆ ไม่มีใครว่ากล่าว แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะถูกสังคมตำหนิว่าเที่ยวเตร่ไม่เป็นสิ่งดีงาม แม้จะเป็นผู้สูงอายุแล้วก็ตาม
- ผู้สูงอายุหญิงต้องทำงานหนัก ขณะที่ผู้สูงอายุชายจะนั่งๆ นอนๆ พักผ่อนแต่ก็ยังมีอำนาจเป็นหัวหน้าครอบครัวอยู่
- ผู้สูงอายุชาย ยังมีโอกาสทำงานหาเงินหากมีแรงทำงาน มีคนว่าจ้าง ส่วนผู้สูงอายุหญิงจะไม่มีใครว่าจ้างเพราะร่างกายอ่อนแอ ทำหน้าที่เพียงเก็บเงินทองเท่านั้น
- ผู้สูงอายุชายยังคงเป็นผู้มีบทบาทในการอบรม สั่งสอนลูกหลานแม้จะเป็นผู้สูงอายุแล้ว ลูกหลานยังให้ความเชื่อถือ และเชื่อฟังมากกว่าผู้สูงอายุหญิง
- ผู้สูงอายุชายมักจะเป็นผู้ที่มีความรู้สึกตื่นตัวอยากทำอะไรๆ ใหม่ๆ ส่วนผู้สูงอายุหญิงเริ่มจะถดถอยไม่อยากดิ้นรน สมถะ ไม่อยากได้อยากมีเท่าผู้สูงอายุชาย
กล่าวโดยสรุป ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยอมรับว่ามีความแตกต่างระหว่างผู้สูงอายุชายและผู้สูงอายุหญิง ความแตกต่างดังกล่าวมี 3 ประการ
ประการแรก ผู้สูงอายุชายที่แข็งแรงยังคมทำงานหาเงินอยู่เป็นบางคน แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทำอะไรอีก ถือว่าหน้าที่ในการหาเลี้ยงครอบครัวได้สิ้นสุดลง จึงนั่งๆ นอนๆ ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุหญิง แม้บางคนจะสามารถช่วยเหลือได้ก็ไม่ช่วยทำงาน ในความหมายนี้ ผู้สูงอายุชายจะไม่ทำอะไรแม้จะทำได้ก็ตาม และรับสภาพของการเกษียณอายุ แต่ก็ยังคงเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้ตัดสินปัญหาสำคัญๆ ของครอบครัว ความหมายของความแตกต่างนี้จึงเป็นบทบาทและหน้าที่ของผู้สูงอายุชายเท่านั้นที่ “หยุด” การทำงานประจำที่เคยทำมาก่อน แล้วสวมบทบาทของการเป็นผู้สูงอายุ โดยการพักผ่อน ไปวัด สนทนากับพรรคพวก หรือดื่มสุรา
ประการที่สอง ความหมาย ความแตกต่างนี้จะเห็นว่าไม่แตกต่าง เมื่อพิจารณาในส่วนของผู้สูงอายุหญิงที่เคยเป็นผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานมาโดยตลอด ตั้งแต่รุ่นสาวจนกระทั่งเป็นสูงอายุก็ยังคงรับผิดชอบงานภายในบ้าน เพียงแต่ได้ลดบทบาทและหน้าที่ในการทำงานในไร่นาที่เคยทำร่วมกับผู้สูงอายุชายมาก่อน ในทางตรงกันข้ามผู้สูงอายุหญิงกลับต้องรับผิดชอบมากขึ้นกว่าเดิมทั้งๆ ที่สุขภาพร่างกายได้เสื่อมลง เพราะการเป็นผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุหญิงถึงกับพ้อว่า “ก่อนแต่งงานต้องเลี้ยงพ่อแม่ เมื่อแต่งงานต้องเลี้ยงลูก พอแก่ต้องเลี้ยงสามี และยังต้องเลี้ยงหลานอีก” อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้สูงอายุหลายคนจะตอบทำนองเดียวกันนี้ แต่ก็ยอมรับว่าเมื่อสามีเป็นหัวหน้าครัวเรือน ทำมาหากินด้วยความลำบากยากยิ่ง จึงไม่ว่ากล่าวที่ไม่ค่อยได้ช่วยทำงานบ้านและยอมรับว่างานบ้านเป็นงานของผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิง หญิงสาว แม่บ้าน หรือคนแก่ ก็ยังต้องรับภาระรับผิดชอบอยู่เพราะเป็นงานไม่หนัก แต่ต้องใช้ความอดทน เพราะเป็นงานจำเจ และน่าเบื่อหน่าย
ประการที่สาม เป็นความแตกต่างระหว่างผู้สูงอายุชายและหญิงที่ลักษณะของการทำงาน ตลอดจนหน้าที่และบทบาทที่ผู้สูงอายุหญิงจะสูญเสียบทบาททางสังคม เพราะการเป็นเพศหญิง ขณะที่ผู้สูงอายุชายจะยังคงมีบทบาททางสังคมอยู่ หน้าที่และบทบาทเหล่านี้ไม่ผูกพันกับความแข็งแรงของร่างกาย แต่จะได้รับการยอมรับจากภายนอกว่าเป็นผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมที่สูงกว่า เช่น เมื่อเข้าไปร่วมพิธีกรรมหรือกิจกรรมทางศาสนา ผู้สูงอายุชายจะอยู่ในโบสถ์ สนทนาธรรมกับพระ หรือพูดคุยกับกลุ่มผู้สูงอายุชาย ส่วนผู้สูงอายุหญิงจะช่วยงานในโรงครัว ทำกับข้าวเลี้ยงพระเลี้ยงคน ไม่มีโอกาสเข้ามามีบทบาทเช่นเดียวกับผู้ชาย ลักษณะโครงสร้างของสังคมค่อนข้างจะเป็นกรอบกำหนดหน้าที่และบทบาทของชายหญิงมาโดยตลอด จึงมีความแตกต่างในหน้าที่และบทบาทเมื่อต่างเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่กำหนดให้ผู้หญิงเป็นผู้รับผิดชอบดูแลกิจการภายในบ้าน รับผิดชอบอาหารการกิน ด้านความสะอาด การเลี้ยงดูแลลูกหลาน ส่วนผู้ชายนั้นไม่คุ้นเคยกับการทำงานบ้านที่ยินดีจะช่วยกันทำงานในบ้าน ด้วยเหตุนี้ผู้สูงอายุหญิงจึงมีแนวโน้มว่าจะมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบที่มากกว่าเพราะเป็นความชำนาญเฉพาะทาง สำหรับกิจกรรมทางสังคมนอกจากงานวัดหรือการพัฒนาชุมชน ผู้สูงอายุหญิงก็มีความสามารถในการร่วมงานกับเพื่อนบ้านได้ไม่แตกต่างไปจากผู้ชายมากนัก
- ไม่มีความแตกต่างกัน ผู้สูงอายุที่ยืนยันว่าหน้าที่และบทบาทของการเป็นผู้สูงอายุชายและหญิงไม่แตกต่างกันมีเหตุผลคือ
- ผู้สูงอายุหญิงเชื่อว่าการทำงานทุกวันนี้รับผิดชอบมาก ไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย แม้จะมีร่างกายที่อ่อนแอกว่า การทำงานในบ้านแม้จะเป็นงานเบา แต่ก็ไม่หยุด ต้องรับผิดชอบสูง โดยเฉพาะการเลี้ยงหลานจะต้องเอาใจใส่เผลอไม่ได้เพราะอาจะเกิดอันตรายแก่เด็กได้
- ปัจจุบันนี้ทั้งผู้สูงอายุหญิงและชายมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะต่างคนต่างแก่ต่างช่วยกันทำงาน ไม่เหมือนตอนเป็นหนุ่มสาวผู้ชายจะทำงานมากกว่าผู้หญิง เพราะเป็นงานหนัก และต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว
- เนื่องจากทั้งผู้สูงอายุหญิงและชายมีความแก่ค่อนข้างเท่าๆ กัน เพราะต่างก็ทำงานหนักมาโดยตลอด การแบ่งงานทำภายใจครอบครัวจึงเป็นไปตามความสามารถของกำลังและแรงงานผู้สูงอายุหญิงจะยังคงรับผิดชอบงานบ้านอยู่บ้างโดยมีลูกหลานคอยช่วยเหลือ หรือเป็นฝ่ายช่วยเหลือลูกหลาน ส่วนผู้สูงอายุชายจะทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น รดน้ำต้นไม้ ปลูกพืชผักสวนครัว จักสาน ตามแต่ถนัด ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่ไม่มีใครอยู่นิ่งเฉย ผู้สูงอายุบางรายได้ให้เหตุผลว่าการทำงานขึ้นอยู่ที่นิสัยของแต่ละคน ผู้สูงอายุชายบางคนก็ทำแทนภรรยาหมด แต่บางคนก็ไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ นั่งๆ นอนๆ ปล่อยให้ภรรยาดูแลบ้านช่องเพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ผู้ชายส่วนมากได้ตายไปก่อนภรรยา
- สิ่งที่ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงทำหน้าที่เหมือนๆ กัน คือ การอบรมสั่งสอนลูกหลานให้ทำในสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง
จากการศึกษาหัวข้อนี้ สามารถนำไปสู่ข้อสรุปว่าหน้าที่และบทบาทของผู้สูงอายุถูกกำหนดโดยโครงสร้างสังคมที่แบ่งหน้าที่การทำงานตามความสามารถและความชำนาญเฉพาะที่สอดคล้องเหมาะสมกับลักษณะของการอยู่ร่วมกันแบบสันติ กล่าวคือมีการแบ่งงานกันทำที่ชัดเจน ภาระหน้าที่ของผู้หญิงและผู้ชายเป็นไปตามแบบแผนทางวัฒนธรรม ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงอาจมีการลดและเพิ่มบทบาทตามความถนัด โดยไม่มีข้อขัดแย้ง หากมีปัญหาที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็จะสามารถปรับและแลกเปลี่ยนหน้าที่บทบาทได้ ผู้สูงอายุชายยังคงความเป็นผู้นำของครอบครัวเพราะเป็นผู้ที่ได้หาเลี้ยงและทำงานหนักมาโดยตลอด การแบ่งงานทำระหว่างผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง เป็นไปตามธรรมชาติของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้ผู้สูงอายุหญิงจะต้องทำงานบ้านแต่ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำของบ้าน มีหน้าที่รับผิดชอบครอบครัว โดยเฉพาะได้รับการยอมรับให้เป็นผู้บริหารด้านการเงินและเป็นแม่บ้านที่ต้องรับผิดชอบฐานะทางเศรษฐกิจทั้งหมด ส่วนผู้สูงอายุชายจะได้รับการยอมรับทางสังคมในฐานะประมุขของบ้าน ให้การอบรมสั่งสอนลูกหลานและเป็นผู้ที่ภรรยาและลูกหลานให้การยอมรับ การเปลี่ยนแปลงหน้าที่และบทบาทจึงมีลักษณะที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระดับ (degree) ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงชนิด (type) ของหน้าที่แต่จะเป็นไปตามความรู้ความสามารถและคุณสมบัติ การที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ตอบว่า “มีการเปลี่ยนแปลง” นั้นเป็นความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงจากวัยหนุ่มสาวมาเป็นวัยสูงอายุซึ่งก็ได้ให้ความหมายชัดเจนและเป็นไปตามความเป็นจริงของสังขารร่างกาย ที่ต่างต้องได้รับผลกระทบจากความเสื่อม เพราะการเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้