- ลักษณะท่าทีและแบบแผนพฤติกรรมที่แสดงถึงการได้รับการยกย่อง
ต่อข้อถามต่อไปว่า ผู้สูงอายุสังเกตลักษณะท่าทีและแบบแผนพฤติกรรมของลูกหลานหรือของชุมชนและสังคมอย่างไร ที่เชื่อว่าเป็นการแสดงออกของการให้ความเคารพยกย่อง ผลจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้รับคำอธิบายในลักษณะเหตุและผลจำนวนมาก การตอบประเด็นนี้เป็นการรับรู้ของผู้สูงอายุว่าสิ่งที่ผู้สูงอายุสังเกตพฤติกรรมของลูกหลาน ชุมชนและสังคมต่อตนเอง สามารถประเมินและตีความว่าผู้สูงอายได้รับการยอมรับแสดงถึงความเคารพยกย่อง ดังนี้
- ได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน
- ชาวบ้านยกย่องเรียก “แม่” “ยาย” “ลุง” “ตา”
- ได้รับคำชมเชยว่าเป็นผู้เลี้ยงลูกดี มีจิตใจช่วยเหลือเพื่อนบ้าน
- มีคนทักทาย พูดจาดีด้วยทุกครั้ง
- มีคนมาขอคำปรึกษาทั้งลูกหลานและคนทั่วไป
- มีคนเชิญไปเป็นแขกผู้ใหญ่ งานแต่งงาน หรือเป็นประธานในงานต่างๆ
- ลูกหลานซื้อสิ่งของ ข้าวปลาอาหารมาฝาก
- มีคนยกมือไหว้ ถามไถ่ทุกข์สุข แสดงมารยาททีดีงาม
- จัดงานวันผู้สูงอายุให้ มีการรดน้ำดำหัว
- ลูกหลานเชื่อฟังในคำสั่งสอน
- ลูกหลานมาเยี่ยมบ่อยๆ
- ลูกหลานส่งเสียเงินทองเป็นค่าเลี้ยงดู
- ชาวบ้านเลือกให้เป็นกรรมการหมู่บ้าน กรรมการองค์การบริหารส่วนตำบล
การแสดงออกของบุคคลอื่นๆ ต่อผู้สูงอายุที่ตอบว่าได้รับการเคารพยกย่องดังตัวอย่างดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุค่อนข้างจะมั่นใจในตัวเองว่าตนได้รับการยอมรับทางสังคม แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ได้ลดบทบาททางสังคมลง แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดได้แสดงความคิดเห็นและข้อเท็จจริงที่ค่อนข้างเด่นชัดว่าผู้สูงอายุในชนบทภาคกลางยังเป็นผู้ที่ครอบครัว ชุมชน และสังคมยอมรับให้ความเคารพยกย่องอยู่
คำถามต่อเนื่องและเป็นส่วนสุดท้ายของประเด็นนี้ คือ การย้อนถามผู้สูงอายุว่าผู้สูงอายุที่ตอบมาทั้งหมดว่าได้รับการยกย่อง มีคนเคารพนับถือจนเป็นตัวอย่างของผู้สูงอายุดังที่ได้นำเสนอมาแล้วนั้น ผู้สูงอายุได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ครอบครัว ชุมชนและสังคม กิจกรรมที่สำคัญภายหลังการเป็นผู้สูงอายุนอกจากจะเป็นตัวชี้วัดสถานภาพและบทบาทของผู้สูงอายุแล้วเป็นตัวชี้วัดสถานภาพและบทบาทของผู้สูงอายุประการหนึ่งว่าผู้สูงอายุได้ทำคุณประโยชน์หรือไม่อย่างไรและมีกิจกรรมอย่างไรบ้าง
ผู้สูงอายุเกือบทั้งหมด ยืนยันว่าได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ครอบครัวและสังคม มีเพียงส่วนน้อยที่ตอบว่าไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้ครอบครัวและสังคมเลย ผู้สูงอายุกลุ่มแรกที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่ครอบครัวได้อธิบายถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำภายหลังที่เป็นผู้สูงอายุแล้ว ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ 5 ประการ คือ
- ช่วยครอบครัวทำงานบ้าน หุงข้าวทำอาหาร
- ช่วยเฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน
- อบรมสั่งสอน ให้คำปรึกษาแนะนำบุตรหลาน
- ช่วยเหลือครอบครัวในการสร้างฐานะโดยการทำงาน
- ปลูกพืชผักสวนครัว ดูแลต้นไม้ ในบริเวณบ้าน
เมื่อสอบถามถึงรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ทั้ง 5 ประการดังกล่าว ผู้สูงอายุได้อธิบายและยกตัวอย่างในแต่ละกิจกรรมดังนี้
- ช่วยครอบครัวทำงานบ้าน หุงข้าว ทำอาหาร ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของผู้สูงอายุหญิง ซึ่งเป็นหน้าที่ประจำตั้งแต่ครั้งเป็นแม่บ้านที่ต้องมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกๆ แต่เมื่อเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นผู้สูงอายุแล้ว ผู้สูงอายุหญิงส่วนใหญ่ก็ยังคงทำงานนี้อยู่ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ได้ทำอย่างเต็มที่เพียงแบ่งเบาภาระแก่ลูกหลานที่ออกไปทำมาหากินนอกบ้าน สำหรับงานบ้านส่วนใหญ่จะเป็นงานเบาๆ จึงพอทำได้ แต่ลูกหลานมักจะห้ามปรามไม่อยากให้ทำ บางครั้งต้องแอบทำเวลาลูกไม่อยู่ การทำงานบ้านถือว่าเป็นงานของผู้หญิงไม่หนักหนา หากเหนื่อยมากก็พัก ถ้าไม่ทำงานบ้านก็ไม่ทราบจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์
- เลี้ยงหลาน การเลี้ยงหลานเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของบุตรหลานที่ออกไปทำงานนอกบ้าน การเลี้ยงหลานเป็นงานหนัก เพราะต้องระมัดระวังดูแลอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงจะเป็นภาระ ดังนั้นบางคนจึงทำหน้าที่เลี้ยงหลานด้วยความจำใจ แต่ส่วนใหญ่จะเต็มใจเพราะเชื่อว่าสามารถดูแลได้ดีกว่าคนอื่นๆ การเลี้ยงหลานยังช่วยคลายเหงา ทำให้สามารถอยู่บ้านได้ไม่ต้องไปไหน มีความอบอุ่น ผู้สูงอายุที่ตอบว่าเลี้ยงหลานนั้นยังมีกิจกรรมอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย เช่น ทำงานบ้าน ปลูกต้อนไม้ แต่การเลี้ยงหลานจะเป็นงานหลัก
- อบรมสั่งสอน ให้คำปรึกษาแนะนำบุตรหลาน การอบรมสั่งสอนถือเป็นหน้าที่ประจำ แม้ลูกๆ จะเติบโตกันหมดก็ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่เพราะต้องการให้เป็นคนดี ผู้สูงอายุเชื่อว่าการอบรมสั่งสอนเป็นการทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ได้ใช้แรงเหมือนกับการทำไร่ ทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว การอบรมสั่งสอนจะอยู่ในขอบเขตของการเป็นบิดามารดาที่ต้องให้คำแนะนำ ชี้สิ่งถูกสิ่งผิดเพื่อลูกหลานจะได้มีชีวิตที่ดีในสังคม
- ช่วยเหลือครอบครัวในการสร้างฐานะโดยการทำงาน ผู้สูงอายุบางคนที่แข็งแรงได้อธิบายว่า แม้ขณะนี้จะเป็นผู้สูงอายุแล้วก็ยังคงทำงานอยู่ ต้องการหาเงินเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น การทำงานในไร่นา หรือรับจ้างจะหยุดไม่ได้ถ้าร่างกายยังแข็งแรง การเป็นผู้สูงอายุจึงมิใช่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานแต่อย่างใด การทำงานหาเงินจึงเป็นเรื่องปกติเพราะยังต้องหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ สำหรับผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ค่อยดีก็จะทำงานช่วยเหลือครอบครัวตามกำลังความสามารถ ผู้สูงอายุบางคนที่มีอายุมากแต่ลูกๆ ห้ามไปทำไร่ทำนา ก็จะขอไปดูให้ได้เห็นว่าลูกได้ทำอะไรบ้าง
- ปลูกพืชผักสวนครัว ดูแลต้นไม้ในบริเวณบ้าน กิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำงานในบ้านมากที่สุดสำหรับผู้สูงอายุชาย คือ การปลูกพืชผักสวนครัวไว้กิน มีใครมาขอก็ให้ การปลูกต้นไม้ ดอกไม้ พืชผักนี้ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ให้ครอบครัว ซึ่งเป็นงานที่เคยทำและสามารถทดแทนงานในไร่นาที่ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
ส่วนการทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมนั้น ผู้สูงอายุได้ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมที่ตนเองได้มีส่วนรวมดังตัวอย่างดังนี้
- ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการพัฒนาวัดและหมู่บ้านเวลามีกิจกรรมทางสังคมก็จะไปร่วมทุกครั้ง
- ได้ช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ยากจน เอื้อเฟื้อเพื่อนบ้านที่มีความเดือดร้อน
- ช่วยงานวัด งานสังคม งานบวช งานประเพณีของชุมชน
- อุทิศที่ดินหรือเงินเพื่อสร้างถนนและสาธารณกุศลอื่นๆ แล้วแต่ชุมชนต้องการ เช่น งานขุดบ่อน้ำ สร้างที่อ่านหนังสือพิมพ์ พัฒนาวัด
สำหรับผู้สูงอายุบางคนที่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้ให้เหตุผลว่า สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ บางคนตอบว่าอายุมากขึ้นไปมาลำบาก ไม่สะดวก แต่ถ้ามีคนเอารถมารับก็ไปเหมือนกัน อุปสรรคปัญหาที่สำคัญก็คือ สุขภาพที่ไม่แข็งแรงถ้าไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมได้จะให้บุตรหลานไปแทน ส่วนผู้ที่คิดว่าไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมนอกเหนือจากปัญหาสุขภาพก็เพราะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจนจึงต้องทำงานเลี้ยงปากท้องของตนก่อน นับเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีผู้สูงอายุบางคนไม่ได้มีส่วนร่วมทางสังคมหรือทำประโยชน์แก่สังคม แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุและผลของผู้ที่ตอบว่าไม่ได้สร้างประโยชน์แก่สังคม กลับพบว่าได้รับการยกย่องจากครอบครัวได้รับการดูแลเอาใจใส่ดี การไม่ทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวหรือสังคมเป็นเพราะความไม่พร้อม โดยเฉพาะสุขภาพร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม แต่ผู้สูงอายุยังคงได้รับการยอมรับในฐานะความเป็นผู้อาวุโสของครอบครัวและสังคมต่อไป