คอลัมน์ » “น้ำลดโคลนผุด” : น้ำท่วมว่าแย่ น้ำลดยิ่งแย่กว่า!

“น้ำลดโคลนผุด” : น้ำท่วมว่าแย่ น้ำลดยิ่งแย่กว่า!

15 ตุลาคม 2024
26   0

สองอารมณ์สองฟิลจริงๆครับท่าน สำหรับภาพพิบัติภัยน้ำท่วมใหญ่เชียงราย ปี 2567 เมื่อ 9-11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาภาพทะเลโคลนขุ่นคลั่กละเลงบ้านเรือนกับภาพเมืองเปื้อนฝุ่นใต้ตะวันโชนฉาย

เหตุการณ์ราพณาสูรไปแบบจะจะลูกตาชาวโลกที่อำเภอแม่สายกับสองฟากฝั่งลำน้ำแม่กก และลำน้ำสาขาในเขตอำเภอเมืองและเขตเทศบาลนครเชียงราย

ณ เวลานี้ ชั่วโมงนี้ หลายครัวเรือนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่รู้จะไปเริ่มต้นใหม่ ณ จุดใด เครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากิน ปัจจัยประกอบการเลี้ยงชีวิตและครอบครัว เรือกสวนไร่นา เสียหายล่มจม

ใครไม่โดนกับตัวเองก็คงไม่รู้ว่า อาการ “ช็อคลากยาว” มันเป็นฉันใด?

เมื่อ 21 กันยายน 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ทรงพระราชทานเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง พร้อมอุปกรณ์ประกอบ จำนวน 100 ชุด โดย พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ารับพระราชทาน และนำไปช่วยเหลือฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่สายที่ประสบอุทกภัยอย่างรุนแรง

พสกนิกรชาวไทย ชาวแม่สาย เชียงราย ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น 

สถานการณ์ “น้ำลดโคลนผุด” ครั้งนี้ ว่ากันว่ากว่าจะเคลียร์พื้นที่ได้น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายท่านก็ลงพื้นที่ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชน มูลนิธิ หน่วยกู้ภัย จิตอาสา ธารน้ำใจ  ก็ทำงานหน้าตักแบบตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อต

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย ซึ่งเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2567 ก็ลงแรง ลงใจแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ประชุมสั่งการ Big Cleaning กันแบบวินาทีสุดท้ายของชีวิตราชการ

ก็ต้องขอคารวะจริงๆ โดยเฉพาะหัวใจสิงห์สู้ยิบตาไม่สนโลกกับกระแสดราม่าใดใดให้รกสมอง บั่นทอนพละกำลังใจ

ภาวะน้ำป่าทะลักและดินโคลนเหลวทลายถล่มเชียงราย กันยายน 2567 ครั้งนี้ รัฐบาลหรือหน่วยงานเกี่ยวข้องคงต้องนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “ปัญหาราษฏรประสบภัยธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาต้องลงมือทำทันที” มาใส่เกล้าฯ แล้วใส่เกียร์เดินหน้า

สถานการณ์ “น้ำท่วมแม่สาย” หากนำปัจจัยและองค์ประกอบเมฆหมอกบนท้องฟ้าและคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยามาเป็นตัวตั้ง โอกาสที่น้ำท่วมซ้ำซาก น้ำป่าไหลหลาก ภาวะดินโคลนถล่ม ก็ย่อมยังมีอยู่คู่แม่สาย อยู่ที่ว่าระดับน้ำจะมากจะน้อยจะสูงจะต่ำแค่ไหน ใช้เวลาแช่ขังนานเพียงใดเท่านั้น…

แต่ที่แน่ๆ น้ำท่วมซ้ำซาก ชาวบ้านก็ย่อมต้องเดือดร้อนซ้ำซาก…เป็นอนิจจัง

ส่วนมหากาฬแห่งมวลน้ำและโคลนดินที่มาจาก “ภูเขาหัวโล้น”ประเทศเพื่อนบ้าน ที่เทกระจาดไล่ดะตั้งแต่แม่อาย ฝาง เชียงใหม่ ลงแม่น้ำกก แม่น้ำสาย กว่าจะเอื่อยเฉื่อยลงแม่น้ำโขง

พื้นที่รองรอบน้ำและดินโคลนล้นตลิ่งทั้ง “กก” ทั้ง “สาย” หายนะล่มจมกันถ้วนหน้า…นี่ยังไม่นับรวมแม่น้ำสายบริวารอย่าง น้ำแม่กรณ์ น้ำแม่ลาว แม่น้ำอิง แบะอีกหลายๆลำน้ำ…

วันก่อนผมเห็นข่าวการประชุมร่วมฝ่ายไทยกับพม่ากรณีแก้ไขปัญหาการถมที่ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำไปในหน้ากว้างของผิวน้ำแม่สายลำน้ำธรรมชาติ พรมแดนไทย-เมียนม่าร์  ส่งผลกระทบต่อปริมาณและความเร็วของมวลน้ำบนลู่วิ่งของทางน้ำเท่าที่ควรจะเป็น

ซึ่งก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด “น้ำท่วมแม่สาย” ซ้ำซาก

มนุษย์มนาทั้งสองฟากฝั่งนี่แหละต้นเหตุสำคัญ เห็นแก่ตัว ขาดความรับผิดชอบ รุกล้ำเส้นทางน้ำเห็นแก่ผลประโยชน์ตนตัวอย่างเดียว ผู้รับผิดชอบไม่รู้หน่วยงานใดก็หูฝ้าตาฟางไปหมด กระทั่งสองฟากฝั่งสะพานก็กลายเป็นคอขวด สภาพการณ์อย่างงี้…

ตลาดสายลมจอยและท่าขี้เหล็ก ชุมชนพื้นที่เศรษฐกิจสองฟากฝั่งลำน้ำแม่สายก็คงต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิปโยค ภาค 2 อีกต่อไป



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า